ดูบทความ
ดูบทความจับตา! อินเดียลดนำเข้าสินค้าจีน จุดกระแสชาตินิยม-พึ่งพาตัวเอง
จับตา! อินเดียลดนำเข้าสินค้าจีน จุดกระแสชาตินิยม-พึ่งพาตัวเอง
อินเดียพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนกว่าร้อยละ 12 ต่อปี แถมขาดดุลการค้าต่อเนื่องเพราะส่งออกไปจีนประมาณร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น และสืบเนื่องจากปัญหาซัพพลายสินค้าช่วงโควิด-19 และเหตุการณ์ปะทะชายแดน ทำให้นโยบายการลดบทบาทจีนถูกปัดฝุ่นขึ้นอีกครั้ง และอาเซียนจะมีบทบาทในตลาดอินเดียมากขึ้น
แนวคิดที่จะลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนและฮ่องกง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจของอินเดียเองที่ต้องการผลักดันการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ ให้สามารถพยุงเศรษฐกิจในช่วงผลกระทบของ COVID-19 อินเดียจึงได้ประกาศนโยบาย Atmanirbhar Bharat (‘อัตมานิรภาร์ ภารัต’ หรือ อินเดียที่พึ่งพาตนเอง) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนเร่งพัฒนาการผลิตและใช้สินค้าของอินเดียให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียต้องนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางของสินค้าจำเป็น อาทิ สารประกอบในการผลิตยาซึ่ง 70% เป็นการนำเข้าจากจีน รวมถึงเวชภัณฑ์ ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนของเครื่องฟอกอากาศและเครื่องทำความเย็น รวมถึงสินค้าที่อินเดียนำมาผลิตเพื่อส่งออกอีกหลายรายการ นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียได้นำเหตุการณ์การปะทะที่ชายแดนจีน-อินเดีย มาจุดกระแสชาตินิยมเพื่อผลักดันนโยบายนโยบาย Make in India และ Invest in India ให้ขับเคลื่อนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของอินเดีย มีสัดส่วนประมาณ12% ของการนำเข้าทั้งหมดในปีงบประมาณ 2563 (เม.ย. 62- มี.ค. 63) อินเดียนำเข้าจากจีนเป็นมูลค่า 65,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่อินเดียส่งออกไปจีนได้เพียง 16,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอินเดีย ทำให้อินเดียขาดดุลการค้ากับจีนประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นหนึ่งในสามของการขาดดุลการค้าทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงการพึ่งพาสินค้าจีน โดยเฉพาะเมื่อห่วงโซ่การผลิตจากจีนต้องสะดุดไปในช่วงโรคระบาดของ COVID-19
โดยในช่วงเริ่มต้นของการล็อคดาวน์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของอินเดียได้ระบุรายการสินค้ามากถึง 1,050 รายการที่อินเดียมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในจีนและฮ่องกง และมอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกประสานหาแหล่งนำเข้าสำรองจากประเทศอื่นๆ นโยบาย Make in India และ Invest in India ให้ขับเคลื่อนอีกครั้ง
มุ่งใช้ประโยชน์จากสินค้าอาเซียนมากขึ้น
ศูนย์วิจัย Acuite Ratings & Research คาดว่าในปี 2563 อินเดียอาจจะทยอยออกมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อจำกัดการนำเข้าและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศในสินค้า 40 รายการ มีมูลค่าประมาณ 33,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 25% ของสินค้าที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่อินเดียมีความสามารถในการผลิตเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อาทิ เหล็กและอลูมิเนียม ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักรกล สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์และพอลีเมอร์ ส่วนประกอบของยาและเครื่องสำอาง เครื่องตรวจวินิจฉัยและเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ที่กำลังขาดตลาด
รวมถึงสินค้าหัตถกรรมที่อินเดียนำเข้าจีนมากถึง 430 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอินเดียเองก็มีศักยภาพด้านนี้อยู่แล้ว โดยอินเดียตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลการค้ากับจีนให้ได้ 84,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2565 ซึ่งการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้านี้จะช่วยสร้างงานและรายได้ให้คนอินเดียในห่วงโซ่การผลิต ในขณะเดียวกันอินเดียก็มองหาแหล่งนำเข้าสำรองสำหรับสินค้าเหล่านี้ด้วย
ลดนำเข้าสินค้าจีน โอกาสของไทยและอาเซียน
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่า นโยบายดังกล่าวไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของจีน เนื่องจากตลาดอินเดียมีสัดส่วนเพียง 3% ของการส่งออกทั้งหมดของจีนเท่านั้น และไทยก็ไม่ได้มีส่วนสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งออกไปอินเดีย
ขณะเดียวกันยังถือได้ว่าจีนเป็นคู่แข่งในการค้าในหลายสินค้า อาทิ เหล็กและอลูมิเนียม เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีอินทรีย์ นี่จึงเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปแทรกตลาดอินเดียแทนที่จีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าของใช้ในบ้านและสำนักงาน อาทิเครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศรถยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงที่นอน เครื่องแก้ว เสื้อผ้า และเส้นใย ของเล่นที่ทำจากพลาสติก อุปกรณ์กีฬา นาฬิกาข้อมือและแขวนผนัง แชมพูและครีมนวดผม ลิปสติก แป้งทาหน้า และน้ำหอม ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ และกระดาษ/วัสดุบรรจุภัณฑ์
แต่กระนั้นตลาดอินเดียที่ลดนำเข้าสินค้าจีนก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะตลาดนี้ไทยก็มีคู่แข่งที่สำคัญในอาเซียน อันได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้แต้มต่อทางการค้าทั้งในส่วน FTA ไทย- อินเดียจึงอาจเป็นท่าไม้ตายเดียวของไทย แต่คงไม่มากนักเพราะระยะหลังอินเดียมุ่งเจรจาในระดับอาเซียนมากกว่ารายประเทศ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพสินค้า ต้นทุนการผลิต การจัดส่ง ยังเป็นตัวชี้วัดสมรภูมินี้
Credit : https://www.prachachat.net/public-relations/news-510166
01 กันยายน 2563
ผู้ชม 775 ครั้ง